top of page

เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

  • รูปภาพนักเขียน: วัดภาณุรังษี
    วัดภาณุรังษี
  • 31 ก.ค. 2566
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 17 มิ.ย. 2567

จุดสำคัญคือเราไม่เห็นแก่ตัว ลดละตัวตนลงไป

หลวงพ่อเคยยกตัวอย่างให้พวกเราฟัง บางครั้งที่ยกให้ฟังหลายครั้งแล้ว อย่างตอนหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ฯ สวนโพธิญาณอรัญวาสี มีโยม 2 คนคือคุณแม่ชีนุช ตอนนั้นไม่ได้บวช กับพระอาจารย์อ๊า ตอนนั้นก็ยังไม่ได้บวช 2 ท่านนี้เวลาญาติโยมมาที่วัด จะคอยดูแลช่วยเหลือ ไม่ได้กีดกัน ไม่ได้ขับไล่ แต่คอยเกื้อกูล อย่างกินข้าวเสร็จ 2 ท่านนี้ ก็บอกให้โยมไม่ต้องมาช่วยล้างจาน เข้าไปฟังธรรม 2 ท่านนี้ก็ล้างจาน ตอนนั้นเพิ่งสร้างวัดใหม่ๆ ตากแดดล้างจานไป ถึง 11 โมงกว่าแล้วกว่าจะล้างจานเสร็จ ตากแดดอยู่อย่างนั้น แดดเมืองกาญจน์ฯๆ ไม่ธรรมดา ร้อนแรง คนที่มาวัดจะช่วย ก็ไล่เข้าไปฟังธรรมไป ให้โอกาส

ใจที่เสียสละให้ผู้อื่นแบบนี้ เป็นใจที่สูง เป็นใจที่ไม่เห็นแก่ตัว มันเป็นจิตใจที่รองรับธรรมะได้ง่าย ถ้าจิตใจเราเห็นแก่ตัว อะไรกูก็จะเอาๆ แทนที่ภาวนา หรือปฏิบัติ หรือฟังธรรมแล้วจะลดละกิเลสได้ กลายเป็นพอกพูนกิเลสโดยไม่รู้ตัว สะสมไปทุกวันๆ ฉะนั้นคนไหนที่ได้ฟังธรรมที่นี่แล้ว มาที่วัดได้แล้ว ก็ให้คนซึ่งเขาไม่มีกำลังที่จะมาที่วัด ไปฟังในกรุงเทพฯ แบ่งให้เขาบ้าง ที่บอกอย่างนี้เพราะว่า ไม่อย่างนั้นพวกเราแย่งเก่ง ลงทะเบียนก็ลงทะเบียนเก่งอีก มีอะไรก็เอาหมดไม่แบ่ง แบ่งๆ กันไป

การปฏิบัติ จุดสำคัญก็คือเราไม่เห็นแก่ตัว ลดละตัวตนลงไป สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็มีกายกับใจนี้ล่ะ เป็นตัวตนของเรา เราก็ต้องมาเจริญสติ เจริญปัญญา มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจ มีปัญญาเห็นความจริงของกายว่าเป็นไตรลักษณ์ มีปัญญาเห็นความจริงของจิตใจว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนี้มันก็ค่อยๆ วาง ค่อยๆ คลายออกๆ เวลาปล่อยวางได้มันก็จะปล่อยวางของที่หยาบๆ ก่อน แล้วก็ค่อยปล่อยวางสิ่งที่ละเอียดประณีตเข้าไปเป็นลำดับๆ อย่างสิ่งที่หยาบๆ ก็คือ อันแรกก็โลกข้างนอก โลกข้างนอก ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อะไรพวกนี้มันเป็นของที่หยาบ ถ้าจิตใจเราหมกมุ่นแสวงหาแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไม่ได้ไปไหน ก็อยู่กับโลกอย่างนั้น

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นธรรมะประจำโลก เราอยากได้ธรรมะประจำโลก เราก็อยู่กับโลกไปเรื่อยๆ โอกาสจะพ้นโลกไม่มีหรอก บางทีกระทั่งบวชแล้วก็ยังติดความเป็นชาวโลกมา อย่างบวชแล้วบางทีก็แสวงหาลาภ หายศ หาคำสรรเสริญ แสวงหาความสุข ความสบาย อันนั้นก็คือเอาโลกเข้ามาไว้ในวัดอีกแล้ว ฉะนั้นคำว่าโลก ไม่ใช่เรื่องบวชหรือไม่บวช อยู่ที่ใจเรา ใจเราติดโลกไหม ถ้าใจเราหมกมุ่นในเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อยู่อย่างนี้ ก็แย่งชิงกันไป ก็ไม่จบไม่สิ้นหรอก

เราดูระดับอินเตอร์ก็ได้ ประเทศใหญ่ๆ เขาก็แย่งกัน แย่งผลประโยชน์ แย่งชื่อเสียง ความเป็นผู้นำ ให้คนทั้งโลกยอมรับ ให้คนยกย่อง แย่งชิงกันจนโลกจะแตกโลกจะพังอยู่แล้ว โลกที่อาศัยได้แบบโลกของเราดาวเคราะห์สีน้ำเงิน มีไม่มากในจักรวาล ก็ไม่ดูแล ไม่รักษา แย่งชิงกันจนกระทั่งมันจะถล่มทลาย แล้วก็เริ่มมองไปอยากหาโลกอื่นสำรองเอาไว้อยู่อีก มันเรื่องของตัวตนทั้งสิ้นเลย มันมีตัวเรา มันใหญ่ในโลกนี้ไม่พอ มันก็รุกไปถึงโลกอื่นด้วย กิเลสตัณหามันไม่จบไม่สิ้นหรอก นี้พวกเราชาวพุทธเราก็คอยระวัง คอยสังเกตตัวเอง

เราอยู่กับโลกจำเป็นต้องทำมาหากิน ต้องมีกลุ่ม มีคณะ มีพวก เรื่องธรรมดา แต่อยู่ให้เป็นอยู่แล้วไม่เพิ่มอัตตาตัวตน ทำความเข้าใจกับโลกให้ดี โลกไม่มีอะไร มีผลประโยชน์ได้ก็เสื่อมผลประโยชน์ได้ มีตำแหน่งหน้าที่ก็หมดตำแหน่งหน้าที่ได้ มีความสุขก็มีความทุกข์ได้ มีคำสรรเสริญยกย่อง ก็มีคนให้ร้ายนินทาได้ โลกไม่มีสาระแก่นสารหรอก พอเราภาวนาเราเห็น โลกข้างนอกนี้หาสาระไม่ได้เลย เราก็มาเรียนรู้สิ่งซึ่งเรายึดมั่นถือมั่น ยิ่งกว่าโลกข้างนอกอีก โลกข้างนอกอย่างทรัพย์สินเงินทอง เราก็แย่งกันมา แต่เวลาเราเจ็บเราไข้ เรายอมเสียเงินเยอะแยะเลย เพื่อรักษาชีวิตร่างกายนี้เอาไว้ เห็นไหมของข้างนอกที่เราว่าสำคัญที่ว่าดี เราก็ไม่ได้รักเท่ากับร่างกายของเราเอง ยอมเสียเงินเสียทองตั้งเยอะตั้งแยะ ไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล ใช้จ่ายมากมาย เพื่ออะไร เพื่อจะรักษาร่างกายนี้ไว้

เพราะฉะนั้นระหว่างเงินทอง ทรัพย์สิน กับร่างกายนี้ อะไรสำคัญกว่ากัน เราเห็นร่างกายสำคัญกว่า เพราะถ้าร่างกายเราแตกสลาย มีเงินมันก็เป็นของคนอื่น มีชื่อเสียงคนเขาก็จำไว้ได้ชั่วคราว ไม่นานเขาก็ลืม โลกข้างนอกมันไม่มีสาระแก่นสารหรอก เราจะภาวนา ข้างนอกเราก็วางเสียบ้าง แล้วเราก็มาเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเอง เบื้องต้นจะเรียนรู้กายก่อนก็ได้ หรือจะเรียนรู้จิตใจก่อนก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของเรา ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนกายก่อน แต่เวลาปล่อยวางถึงเราดูจิตๆ อยู่นี้ ในขั้นที่ปล่อยวาง มันปล่อยวางกายก่อนปล่อยวางจิต เพราะระหว่างกายกับจิต กายเป็นของหยาบ จิตเป็นของละเอียด เป็นของประณีต เป็นสิ่งที่เรารู้สึกแน่นแฟ้นว่าคือตัวเรา คือของเราอย่างแท้จริง



Comments


bottom of page