top of page

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

  • รูปภาพนักเขียน: วัดภาณุรังษี
    วัดภาณุรังษี
  • 31 ก.ค. 2566
  • ยาว 3 นาที

เจริญพร ยินดีต้อนรับพวกเรามาจากหลายประเทศ มาจากเมืองลาว 10 กว่าคน ธรรมะมันเป็นของกลาง เป็นของที่มันมีอยู่แล้ว จะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะมันก็มีอยู่ แต่พระพุทธเจ้ามาค้นพบของซึ่งมันมีอยู่แล้ว เอามาสอนพวกเรา ฉะนั้นธรรมะจริงๆ นั้นไม่ใช่ของประเทศไหน ไม่ใช่ของอินเดีย ไม่ใช่ของไทย เป็นของโลก ของประจำโลก

คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจะเห็นธรรมะได้ เพราะจิตไม่มีคุณภาพพอ พระพุทธเจ้าก็สอนวิธีที่เราจะพัฒนาจิตใจตัวเอง จนสามารถเห็นธรรมะได้ ท่านสอนเราให้ทำทาน ให้รักษาศีล ให้ภาวนา ทำทานก็เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ โดยธรรมชาติของคน ชอบสะสมอะไรที่เกินจำเป็นไว้เยอะๆ มีมากๆ แล้วดี คิดอย่างนั้น ที่จริงมันเกินจำเป็น มีเงินแสนล้าน ใช้ได้จริงเท่าไร ก็ใช้ได้ไม่หมด มีเสื้อผ้ามากก็ใช้ได้ไม่กี่ชุด มีอาหารเยอะแยะ ก็กินได้แค่อิ่มหนึ่งเท่านั้นเอง

คนเราเหน็ดเหนื่อยในการแสวงหาเงิน แสวงหาทรัพย์สมบัติมามากมายจนเกินจำเป็น บางทีที่เขาแสวงหาจนลืมไปว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือความสุข นี้คนส่วนมากก็เอาความสุขไปผูกไว้กับเงิน มีเงินแล้วจะมีความสุข เลยหาแต่เงิน ไม่ได้เจอความสุขเสียที พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้เรารู้จักให้บ้าง แต่ไม่ใช่ให้จนหมดตัว ตัวเองลำบาก ครอบครัวลำบาก ไม่ใช่ มีส่วนเกินเยอะๆ ก็หัดแจกไป ให้คนที่ขาดแคลน เฉลี่ยกันออกไป ผู้รับเขาก็มีความสุข ผู้ให้ก็มีความสุข อย่างหนาวจัดๆ เรามีเสื้อผ้าเยอะ บางคนไม่มี เราให้เขาไป เขาก็มีความสุข เราเองก็มีความสุข ผู้ให้มีความสุข ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าสอนเราทำทาน เพื่อให้เราลดละความเห็นแก่ได้ ความเห็นแก่ตัว

แล้วท่านก็สอนเราให้ถือศีล ถือศีลก็เป็นการฝึกตัวเอง ให้เข้มข้นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คนมันทำผิดศีลได้ เพราะกิเลสมันครอบงำใจ ถ้ากิเลสมันรุนแรง เรารักษาจิตเอาไว้ มีสติรักษาจิตเอาไว้ กิเลสมันจะครอบงำจิตเราไม่ได้ จิตใจเราก็เข้มแข็งขึ้น มีศีลทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น ไม่ยอมอ่อนแอ ไม่ยอมแพ้กิเลส อย่างทำทานก็เพื่อสู้กับกิเลส คือความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวอะไรพวกนี้

มีสติรักษาจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้ศีล

รักษาศีลก็เพื่อสู้กิเลส ราคะ โทสะ รุนแรงขึ้นมา เรามีศีลเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้เราทำตามใจกิเลส จนไปทำความชั่วทางกาย ทางวาจาขึ้นมา ฉะนั้นศีลจะควบคุม ไม่ให้เราทำความชั่วทางกาย ทางวาจา ความชั่วทางกาย ทางวาจา มันก็เกิดจากความชั่วทางใจนั่นล่ะ ถ้าใจไม่ชั่ว กายก็ไม่ชั่ว วาจามันก็ไม่ชั่ว ฉะนั้นการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป กิเลสครอบงำใจเราไม่ได้ เราไม่ผิดศีลหรอก ศีลเราจะสมบูรณ์ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เป็นศีลอัตโนมัติ

สมัยพุทธกาลก็มีพระ ท่านมาบวช ท่านศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า พอออกมาบวช ท่านพบว่าพระวินัยมีเยอะเหลือเกิน วินัยในปาติโมกข์มี 227 ข้อ วินัยนอกปาติโมกข์มีอีกเยอะแยะเลย ท่านรู้สึกท่านรักษาไม่ไหว มันรักษายากเหลือเกิน มันเยอะเกิน ท่านก็ไปหาพระพุทธเจ้า ท่านบอกท่านขอสึกแล้ว ท่านไม่สามารถรักษาศีลและรักษาวินัย ตามที่พระพุทธเจ้ากำหนดได้ นี้เป็นความดีของท่าน ท่านรู้สึกว่าท่านรักษาไม่ได้ท่านก็ลาออก

อย่างของเรายุคนี้ เห็นมากมายเหลือเกิน อย่างพระรักษาไม่ได้ ก็ยังปลอมเป็นพระอยู่อย่างนั้น หลอกชาวบ้านเขาไป ศีลด่างพร้อย ศีลขาด แต่องค์นี้ท่านไม่เป็น พอท่านรู้สึกท่านรักษาศีลไม่ได้ ท่านก็ไปทูลลาพระพุทธเจ้าขอสึกแล้ว เพราะไม่สามารถรักษาศีลได้ เยอะเหลือเกิน พระพุทธเจ้าก็ถามว่า “ถ้าศีลมีอยู่ข้อเดียว จะรักษาได้ไหม” ไม่ต้องหลายร้อยข้อเอาข้อเดียว องค์นี้ท่านบอก “ถ้ามีศีลข้อเดียว ท่านรักษาได้” พระพุทธเจ้าท่านก็เลยบอก ศีลข้อเดียวของท่านก็คือ “ให้มีสติรักษาจิตเอาไว้”

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติรักษาจิตเอาไว้ได้ ศีลจะมีกี่ร้อยข้อ มันก็มาเกิดขึ้นเองอัตโนมัติ เพราะเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ศีลเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เรามีสติรักษาจิตอยู่ จิตมันไม่ชั่ว ความชั่วมันก็ไม่มีโอกาสที่จะล้นออกมาทางกายทางวาจาได้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรักษาจิตเอาไว้นั้น เราจะได้ศีล อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อโมเมพูดเอง เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอน แล้วพระองค์นั้นท่านก็รักษาข้อเดียว คือรักษาจิตของท่าน

การรักษาจิตไม่ใช่ไปนั่งเฝ้าจิต สิ่งที่รักษาจิตคือสติ สติเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจของเรา ถ้าจะรักษาจิตก็คอยรู้ทันว่า มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของเรา มีความสุขเกิดขึ้นให้รู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นให้รู้ทัน มีกุศลเกิดขึ้นให้รู้ทัน โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นให้รู้ทัน คอยรู้ทันอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ศีลอัตโนมัติมันจะเกิด สติจะเป็นผู้รักษาจิต ที่บอกให้มีสติรักษาจิตนั้น ท่านสอนถูก เพราะเรารักษาจิตไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ แต่ถ้าเรามีสติขึ้นมาเมื่อไร อย่างจิตเราโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ ความโกรธจะดับทันทีที่สติเกิด อัตโนมัติเลย แล้วใจมันโลภขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตกำลังโลภขึ้นมาแล้ว ความโลภเกิดขึ้น ทันทีที่สติเกิด ความโลภก็ดับทันที เพราะสติกับกิเลสเกิดร่วมกันไม่ได้

ถ้ามีสติก็จะไม่มีกิเลส ถ้ามีกิเลสก็จะไม่มีสติ นี่เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นกฎของธรรมะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราคอยมีสติรักษาจิตเอาไว้ กิเลสจะเกิดไม่ได้ เมื่อกิเลสเกิดไม่ได้ การทำผิดศีลจะเกิดไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะสามารถมีสติรักษาจิตไว้ได้ เราก็ต้องหัดภาวนา หัดภาวนา ภาวนาก็คือการเจริญสตินั่นล่ะ มันมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเราเจริญสติ ส่วนหนึ่งเราเจริญปัญญา

วิธีหัดภาวนา

เวลาเราจะภาวนา เราก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ขอแนะนำว่าทุกคนต้องทำกรรมฐาน ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่สักอย่างหนึ่ง อย่างน้อย 1 อย่าง อย่างมากอย่าเกิน 3 อย่าง ถ้ามีเครื่องอยู่หลายอย่าง จิตจะวุ่นวาย เหนื่อย เหมือนคนมีบ้านหลายหลัง วันนี้อยู่หลังนี้ วันนี้อยู่หลังนี้ วันนี้อยู่หลังนี้ ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย มีบ้านหลังเดียวก็พอ แล้วบ้านหลังเดียวคับแคบจนไม่พอ มี 2 หลังอย่าเกิน 3

การทำกรรมฐานก็เหมือนกัน เราทำกรรมฐานสักอย่างเดียว เช่น เราหายใจเข้ารู้สึกตัว หายใจออกรู้สึกตัว ทำกรรมฐานไป ให้จิตมีเครื่องอยู่คือการหายใจ เห็นร่างกายหายใจ จิตรู้สึกตัว รู้สึกตัวไปเรื่อย บางคนแค่หายใจจิตก็ยังฟุ้งซ่าน เอาไม่อยู่ ก็ต้องมีบ้านหลังที่ 2 มาช่วย หรือมีเชือกเส้นที่ 2 มาคอยควบคุมจิต ก็หายใจเข้าบริกรรมพุท หายใจออกบริกรรมว่าโธอะไรอย่างนี้ ก็มี 2 อย่างแล้ว หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เป็นกรรมฐาน 2 อันรวมกัน คืออานาปานสติ อีกอันหนึ่งเป็นการบริกรรม บริกรรมพุทโธๆ ควบเข้าไปกับลมหายใจ

บางคนหายใจเข้าพุทออกโธ จิตก็ยังดิ้นอีก ก็เพิ่มเครื่องมืออันที่ 3 เข้าไป อย่างหลวงพ่อไปเรียนกับท่านพ่อลี ตอนนั้นเด็ก ไปถึงเล็กๆ 7 ขวบ ท่านก็เรียกนั่ง จับนั่งตักแล้วก็สอน “ต่อไปนี้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 นับไปเรื่อยๆ ท่านบอกให้นับถึง10 ก็นับถึง 10 แล้วก็ลงมา 9 8 7 6 5 4 3 2 1” ลมหายใจก็เป็นเชือกเส้นแรก พุทโธเป็นเชือกเส้นที่ 2 การนับเป็นเชือกเส้นที่ 3

พอมาทำ กลับมาบ้านก็มานั่งหายใจเข้าพุทออกโธนับ พอนับไปถึง 10 ยังเด็ก 7 ขวบ นับเลขถอยหลังไม่เป็น นับแล้วต้องคิด เหนื่อย หลวงพ่อก็ดัดแปลงไม่นับถอยหลังแล้ว นับ 1 ถึง 100 ไปเลย แล้วก็เริ่มนับ 1 ใหม่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 นับไปถึง 100 แล้วก็กลับมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 ฝึกอย่างนี้ ไม่นานหรอก ทำไปแบบไร้เดียงสา ไม่ได้คาดหวังอะไร ครูบาอาจารย์บอกให้หายใจ พุทโธไปให้นับไป ก็ทำ ไม่ได้ถามท่านว่าทำไปทำอะไร ทำแล้วจะได้อะไร ในหัวไม่มีอย่างนั้นเลย มีแต่ท่านให้ทำก็ทำ

พอหายใจเข้าพุทออกโธนับไปด้วย จนจิตมันเริ่มสงบ การนับมันหายไป เชือกเส้นที่หนึ่งหลุดไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมัดมากเกินไปแล้ว จิตนี้เหมือนวัวเหมือนควาย เชือกเส้นเดียวมัดไม่อยู่ มี 3 เส้นมัด มากกว่านั้นควายตาย เอา 3 เส้นพอแล้ว มากกว่านั้นจะฟุ้งซ่าน กรรมฐานเยอะเกินไป ยุ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 แล้วเพ่งกสิณไปด้วย ไปกันใหญ่เลย จะยิ่งฟุ้งซ่าน พอทำไปแล้ว พอจิตมันเริ่มสงบ การนับมันหายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

หายใจไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความคาดหวังว่า มันจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ หายใจไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตก็สงบมากขึ้น การนับก็หายไป ก็เหลือแต่หายใจเข้า หายใจออก ไม่มีพุทโธแล้ว พอจิตมันสงบมากขึ้น ลมมันระงับ จิตมันจะค่อยๆ รู้สึก ลมหายใจมันจะตื้นขึ้นๆ ทีแรกเราหายใจไปถึงท้อง พอจิตมันเริ่มสงบ ลมจะตื้นๆๆ ขึ้นมาอยู่ที่ปลายจมูก แล้วพอจิตมันสงบจริงๆ ลมมันก็ดับ จากลมหายใจกลายสภาพเป็นแสงสว่าง แสงสว่างเกิดขึ้นแทนที่ลมหายใจ สว่างอยู่ตรงปลายจมูกนี้ เป็นดวงสว่าง

ตรงที่เราหายใจเข้าหายใจออก อันนี้เรียกว่าบริกรรมนิมิต ตรงที่มันเกิดดวงสว่าง แล้วมันดับลมไปแล้ว สว่างขึ้นมา เรียกอุคคหนิมิต พอจิตมันสว่าง เราอยู่กับแสงสว่างจนชำนาญ ทรงตัวอยู่ได้เท่าที่ต้องการ กำหนดจิตลงไป จะแผ่ความสว่างของแสงนี้ให้กว้างออกไป ตัวเราเหมือนพระอาทิตย์ เหมือนพระจันทร์ แผ่แสงสว่างออกไปทั่วโลก หรือบางทีก็ย่อแสงสว่างลงมาเท่าปลายเข็ม ตรงที่เราสามารถเล่นกับแสงได้ตามใจชอบ อันนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต ตรงที่ได้ปฏิภาคนิมิตคือได้อุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้นที่เรานั่งแล้วก็โยกๆ เคลิ้มๆ บอกได้อุปจาระ อันนั้นไม่ใช่ อุปจารสมาธิไม่ได้กระจอกงอกง่อย แบบนั่งเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวอย่างนั้นหรอก สติไม่ขาดสายเลย

จากปฏิภาคนิมิต จิตมันตรึก มีวิตกอยู่ที่แสง มันมีวิจารคือมันเคล้าเคลียอยู่กับแสง โดยที่เราไม่ได้เจตนา จิตก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้นมา จิตก็เข้าปฐมฌานไป จากปฐมฌาน สติแข็งแรงขึ้นอีกก็ยังเห็น ในปฐมฌานนี้จิตยังไปยุ่งอยู่กับแสง ไปตรึกอยู่ที่แสง ไปตรองอยู่ที่แสง มีวิตก วิจารอยู่กับแสง เป็นภาระ จิตก็วางแสงสว่าง ทวนกระแสเข้าหาจิต เพราะฉะนั้นในฌานที่ 2 จิตผู้รู้ที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น จะเกิดตั้งแต่ฌานที่ 2 เพราะอะไร เพราะไม่ส่งออกนอกแล้ว ไม่ส่งไปที่แสงสว่าง อันนี้เป็นเส้นทางเดินสำหรับคนที่จะใช้สมาธินำปัญญา หรือใช้สมาธิและปัญญาควบกัน

จากฌานที่ 2 เราก็จะเห็นต่อไปอีกว่า จิตมันมีปีติ เช่น ตัวโคลงๆ ขนลุกขนพอง บางทีรู้สึกตัวใหญ่ ตัวโตเท่าภูเขา บางทีรู้สึกตัวหนักมากเลย นี้เป็นอาการที่ปีติมันเกิด บางทีก็น้ำหูน้ำตาร่วง ก็ยังเห็น สติระลึกลงไปอีก ปีตินี้เป็นของวุ่นวาย ทำให้จิตวุ่นวาย เป็นภาระ จิตก็วางปีติ มีความสุข ต่อไปก็เห็นว่าความสุขก็ยังเป็นภาระอีก ก็วางความสุข ก็เป็นอุเบกขา นี้เข้าถึงฌานที่ 4 ส่วนใหญ่ในพระสูตร พระพุทธเจ้าจะสอนถึงฌานที่ 4 แล้วก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ คือเจริญปัญญา อันนี้สำหรับคนซึ่งเดินแนวสมาธิ

วิธีที่เราจะได้ขณิกสมาธิ

ถ้าเราเดินแนวสมาธิไม่ได้ เราก็ใช้สมาธิอีกชนิดหนึ่งเรียกขณิกสมาธิ สมาธิมี 3 อัน อัปปนาสมาธิ คือสมาธิระดับฌาน อุปจารสมาธิคือสมาธิที่ใกล้ๆ จะเข้าฌาน อย่างทำไปแล้วปฏิภาคนิมิตเกิด กำหนดแสงสว่างได้ ย่อได้ ขยายได้ อันนั้นเป็นตัวอุปจาระ แล้วก็มีอีกอันหนึ่งเรียกขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ ที่จริงสมาธิทุกอย่างก็เกิดทีละขณะ แม้แต่อัปปนาสมาธิ อย่างจิตเข้าฌานที่ 8 จิตก็เกิดดับตลอดเวลา แต่ว่าดวงที่เกิดถัดมา มันก็ยังเป็นจิตที่เข้าฌานที่ 8 อยู่

หรือจิตเข้าฌานที่ 4 จิตก็เกิดดับเป็นขณะๆ เหมือนกันกับคนอยู่ข้างนอกนี้ เพียงแต่ว่าจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น มันก็ยังเป็นจิตที่ประกอบด้วยฌานที่ 4 อยู่ เราก็เลยเกิดสำคัญมั่นหมายว่าสมาธิของเรายาว ที่จริงสมาธิก็เกิดทีละขณะ เหมือนกันหมดทั้ง 3 ชนิด เพราะฉะนั้นอย่าดูถูกขณิกสมาธิ ท่านผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ที่บรรลุพระอรหันต์ ท่านใช้แค่ขณิกสมาธินี้ล่ะ รู้เป็นขณะๆ ไป

วิธีที่เราจะได้ขณิกสมาธิ ก็ไม่ยากอะไร เราอาศัยสติคอยรู้ทันจิตใจของตัวเองไป ง่ายมากเลย อย่างจิตใจเรามีความสุข เรารู้ จิตใจเรามีความทุกข์ เรารู้ จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ เรารู้ จิตใจเป็นกุศล เรารู้ จิตใจโลภ จิตใจโกรธ จิตใจหลง จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจหดหู่ รู้ไปอย่างที่มันเป็น ทันทีที่สติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ในขณะนั้นขณิกสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะชอบสอนว่า ให้รู้จิตที่คิด ให้รู้จิตมันหลงไปคิด รู้จิตโกรธได้ไหม ได้ รู้จิตโลภได้ไหม ได้ รู้จิตสงบได้ไหม รู้จิตสุขได้ไหม ได้หมด ขอให้รู้สภาวะตรงตามความเป็นจริง ขณิกสมาธิก็จะเกิด

แต่ส่วนใหญ่จิตของเราคิดทั้งวัน มันชอบคิดทั้งวัน มันไม่ได้โกรธทั้งวัน มันไม่ได้โลภทั้งวัน แต่มันคิดทั้งวัน เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ จะเน้นลงมาที่จิตคิด อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอน “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” เห็นไหม ท่านมีคำว่า “อาศัยคิด” ด้วย “อาศัยคิด” หมายถึงว่าอย่าไปห้ามความคิด ถ้าไม่มีความคิด นิ่งเฉยๆ อยู่มันเป็นสมาธิ แต่ปัญญามันไม่เกิด ก็ปล่อยให้จิตมันคิด แต่ตรงที่จิตมันคิด ปัญญายังไม่เกิด แต่พอจิตมันไปคิดแล้ว เรามีสติรู้ว่าจิตคิด ตรงนั้นความคิดจะดับทันที แล้วสติ สมาธิ ปัญญามันจะเกิด ก็เกิดตรงนี้

เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง เช่น จิตมันหลงไปคิดแล้วรู้ หายใจไป หายใจเข้าพุทออกโธไป จิตไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ทัน หายใจเข้าพุทออกโธ จิตไปคิดอีกเรื่องหนึ่งแล้ว รู้ทัน ให้รู้ทันจิตที่คิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด รู้ว่าจิตกำลังคิด ไม่ใช่รู้เรื่องจิตว่าไปคิดเรื่องอะไร จิตคิดอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่รู้ว่าจิตกำลังคิด จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แหม คิดจะไปเที่ยวเมืองจีน บอกเมืองจีนเปิดประเทศแล้ว ก็รู้ทันว่าจิตหลงไปในโลกของความคิดแล้ว ลืมหายใจเข้าพุท ลืมหายใจออกโธแล้ว

หัดอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปเวลาจิตมันหลงคิด มันจะหลงไม่นาน คนทั่วไปเวลาหลงคิด มันหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่เราหัดทำกรรมฐาน เราคอยรู้ทันจิตที่หลงคิด ทีแรกอาจจะหลงคิดไปชั่วโมงแล้วเพิ่งรู้ว่าหลง หัดทุกวันๆ ต่อไปหลง 10 นาทีก็รู้แล้ว หลง 5 นาทีก็รู้ หลง 1 นาทีก็รู้ ต่อไปจิตหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย ตรงที่จิตหลงปุ๊บรู้ปั๊บนี้ดีมาก ไม่ใช่ว่าจะดีต่อเมื่อไม่หลง ไม่ใช่ หลงแล้วรู้ๆ ดีกว่าไม่หลงเลย ไม่หลงเลยมันเป็นภูมิของพระอรหันต์ ไม่ใช่ภูมิของเรา ภูมิจิตของพวกเราก็คือ เดี๋ยวก็หลงๆ นี้คนในโลกนั้นมันมีแต่หลงๆๆ มันไม่ใช่หลงแล้วรู้ๆ อย่างที่พวกเราฝึก

เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ทันไป จิตที่หลงคิดก็จะดับ จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวจะเกิดขึ้น จิตทรงสติ ทรงสมาธิ ชนิดขณิกสมาธิขึ้นมาแล้ว ถ้าหลงรู้ๆ ถี่ๆๆ สมาธิก็เกิดถี่ยิบขึ้นมา พอสมาธิเกิดถี่ยิบขึ้นมา จิตจะเริ่มมีกำลัง จนเราจะรู้สึกได้เลย จิตเราเปลี่ยนไป จิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวสว่างไสว ร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา อาศัยทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ส่วนใหญ่ก็จิตหลงไปคิด แต่ถ้าจิตไปปรุงอย่างอื่นก็ได้ จริงๆ แล้วก็คือจิตปรุงอะไรขึ้นมา เรารู้ ก็จะมีผลเหมือนกัน สติ สมาธิ ก็จะเกิดขึ้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าจิตหลงคิด มันเกิดบ่อยที่สุดเท่านั้นเอง

เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนอย่างนี้ ตอนนั้นหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ฯ ก็มีหนุ่มคนหนึ่งมาเรียนด้วย หลวงพ่อบอก “จิตหลงไปคิดแล้วรู้ หายใจเข้าพุทออกโธ จิตหลงไปคิดแล้วรู้” เขาบอกเขาไม่ชอบหรอก เขาจะทำอย่างอื่นได้ไหม หลวงพ่อถาม “จะทำอะไร” บอกว่า “ถ้าฟ้าร้องแล้วจะรู้” บอก โอ๊ย ไม่ได้กินหรอก ปีหนึ่งฟ้าร้องกี่ครั้ง นานๆ ร้องทีหนึ่ง เวลาที่เหลือเธอจะหลง หลายๆ วัน หลายๆ เดือนเลย กว่าฟ้าจะร้องทีหนึ่ง แต่จิตหลงคิดมันเกิดตลอดเวลา เดี๋ยวก็หลงๆ

เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ ท่านถึงแนะนำให้รู้จักจิตหลงคิด หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด” คือให้จิตมันคิดไป แล้วก็รู้ทันว่ามันคิด ความคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิด “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้” นั่นล่ะตัวรู้มันเกิด หลวงพ่อเทียนก็สอน “คิดเหมือนหนู รู้เหมือนแมว” ความคิดมันผุดขึ้นมา สติรู้ทัน แมวก็ตีหนูตายแล้ว ก็คือพอสติเกิด ความฟุ้งซ่านหลงคิดก็ดับทันที ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่ท่านภาวนาดีๆ ท่านก็สอนลงมาตรงนี้กัน

พวกเราเอาไปทำดู ไปทำดูไม่ยากหรอก แต่ตอนที่หลวงพ่อฝึก หลวงพ่อฝึกมาอย่างแรก ทำสมาธิเยอะ ท่านพ่อลีท่านสอนอย่างนั้น เราเด็กเราไม่รู้เรื่องอะไร เราก็ทำไป พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ตอนนั้นอายุ 29 ปีแล้ว ไปกราบท่าน ท่านก็สอนให้ดูจิตตัวเอง หลวงพ่อก็มาดูจิต ดูอย่างที่พวกเราดู ที่สอนพวกเรานี่ล่ะ หายใจไปพุทโธไป จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ในที่สุดจิตรู้มันก็ตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตรู้มันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วรู้เลย โอ๊ย มันตัวเดียวกัน กับจิตที่ทรงสมาธิที่ทำมาแต่เด็ก อันเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเราไม่รู้วิธีที่จะไปต่อ พอจิตตั้งมั่นเด่นดวงแล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น ไปต่อไม่เป็น เดินปัญญาไม่ได้

Comments


bottom of page