top of page

มรรค คือศีล สมาธิ ปัญญา

  • รูปภาพนักเขียน: วัดภาณุรังษี
    วัดภาณุรังษี
  • 31 ก.ค. 2566
  • ยาว 2 นาที

งานกรรมฐานเป็นงานฝึกจิตใจ เบื้องต้นก็ฝึกจิตใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่น ถัดจากนั้นก็ฝึกให้จิตใจมันเรียนรู้ความจริงของโลก ของกายของใจ สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนามนั่นเอง ให้จิตมันเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ สุดท้ายมันปล่อยวาง พอปล่อยวางแล้วมันก็ไม่ทุกข์ โลกมันทุกข์ แต่จิตมันไม่ทุกข์ ฉะนั้นจุดหมายปลายทางนั้น เราภาวนาไป วันหนึ่งเราพ้นทุกข์ แล้ววันที่ขันธ์มันแตก รูปนามมันดับ นั่นก็คือดับทุกข์

ตรงที่เราภาวนา จิตมันหลุดพ้นแล้ว มันยังมี 2 อัน 2 ลักษณะ อันหนึ่งมันพ้นแต่ว่ามันมีขันธ์ รูปนามมันมีอยู่ จิตมันพ้นจากรูปนาม เรียกมันพ้นโลกเหมือนกัน อีกอันหนึ่งรูปนามมันดับ ฉะนั้นนิพพานมันมี 2 อัน ตรงที่ภาวนาจนแตกหัก อันแรกมันพ้นทุกข์ มันพ้นจากรูปนาม อันที่ 2 มันดับทุกข์ มันดับรูปนาม ที่จริงเราปฏิบัติ เราไม่ได้ดับรูปนาม รูปนามมันดับเพราะเหตุมันดับ รูปนามเราได้มาเพราะวิบาก กำลังของวิบากส่งผลมา เรามีกายอย่างนี้ มีจิตใจที่เราจะต้องกระทบอารมณ์ที่ดี อารมณ์ที่ไม่ดีอะไรนี้ เป็นผลของกรรม ถึงจะพ้นทุกข์แต่ขันธ์ยังเหลืออยู่ มีวิบากเหลืออยู่ เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีเศษเหลือ

วันที่ขันธ์มันหมดเชื้อแล้ว วิบากให้ผลมาเต็มที่ ขันธ์มันแตกดับไป เรียกมันดับทุกข์ เรียกอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานไม่มีอะไรเหลืออีก เหลือแต่ธรรม เหลือแต่ธรรมะ คือจิตกับธรรมนั้นมันรวมเป็นอันเดียวกัน มันไม่ได้สูญ นิพพานพ้นจากคำว่าอมตะ คำว่ามีอยู่ บรรลุพระนิพพานแล้วก็เป็นอมตะ หรือบรรลุพระนิพพานแล้วสูญ มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้ายังคิดว่ามีรูปนามอยู่ มันก็ไม่ใช่นิพพาน ถ้าคิดว่ามันคือความสูญทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกสายหนึ่ง เรียกอุจเฉททิฏฐิ ดับหมดไม่มีอะไรเหลือ อันนี้วันหนึ่งพวกเราจะเข้าใจ จะเห็นด้วยตัวเอง แต่ก่อนที่เราจะไปเห็นจุดนั้นได้ ขั้นแรกเลยมาเรียนรู้รูปนามให้ถ่องแท้เสียก่อน ตัวรูปนามบอกแล้วว่าคือตัวทุกข์ มันเป็นตัวทุกข์

ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง

การเรียนรู้รูปนาม มันก็คือเรียนรู้ทุกข์ มันคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่า “ทุกข์ให้รู้” สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือรูปนาม เพราะฉะนั้นหน้าที่เรารู้รูป รู้นาม รู้กายรู้ใจของตัวเองให้มาก รู้จนถ่องแท้ รูปนามนี้ไม่มีอะไรดีหรอก เบื้องต้นก็รู้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ของเรา ตัวเราไม่มี อันนั้นเราได้ธรรมะขั้นต้น ต่อมาปัญญาแก่รอบขึ้น ถึงจะเห็นรูปนามที่ว่าไม่ใช่เรานั้น มันเป็นอะไร มันเป็นทุกข์ พอเห็นทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จิตก็ปล่อยวาง เรื่องอะไรจิตจะไปยึดถือตัวทุกข์เอาไว้ ที่พวกเราปล่อยวางความยึดถือกาย ปล่อยวางความยึดถือจิตไม่ได้ เพราะเราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์

เราเห็นอย่างไร เราเห็นว่าร่างกายเรานี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เห็นอย่างนี้ไหม ร่างกายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง จิตใจของเราก็ทุกข์บ้าง สุขบ้าง คนทั่วไปอย่างมากก็เห็นแค่นี้ ถ้าหลงโลกมากกว่านี้ไม่รู้เลย ร่างกายจิตใจตัวเองเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เลย อันนั้นพวกเหลวไหล ถ้าเรามาหัดภาวนา เราไม่เห็นหรอกว่าร่างกายเราเป็นทุกข์ จิตเราเป็นทุกข์ แต่เราจะเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง พอมันมี 2 ทางเลือก เราก็จะเลือกเอาความสุข เราจะปฏิเสธความทุกข์ จิตมันก็จะอยากได้ความสุข อยากให้ความทุกข์หายไป ได้ความสุขมา ก็อยากให้ความสุขอยู่นิรันดร พอได้ความทุกข์มา ก็อยากให้ความทุกข์หมดไปสิ้นไป

ตัวอยากคือตัวตัณหา หรือตัวสมุทัย มันเป็นตัวที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมา ทีแรกทุกข์มันอยู่ที่ตัวขันธ์ ร่างกายมันตัวทุกข์ เวทนามันก็ตัวทุกข์ สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นตัวทุกข์ พอเราอยากให้มันสุข อยากให้มันไม่ทุกข์ ความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนของจิตก็เกิดขึ้น เมื่อความดิ้นรนของจิตเกิดขึ้น มันก็เกิดตัวกูของกู เข้าไปหยิบไปฉวยไปยึดถือ เข้าไปหยิบอะไร หยิบรูป หยิบนาม คือยึดกายยึดใจ รูปนามจริงๆ มันคือตัวทุกข์ แต่เราไม่เห็นจริง เราก็เลยไปหยิบฉวย ไปกอดเอาตัวทุกข์ไว้ เหมือนเราเห็นงูเห่ามันสวย งูเห่ามันสวยจริงๆ เกล็ดมันดำๆ เวลาถูกแสงแดดเป็นประกายวับๆ อย่างกับรุ้งเลย สวย ถ้าเราไม่รู้จัก เราก็ โอ้ มันสวยดี เราก็ไปหยิบมาอุ้มไว้ เดี๋ยวมันก็กัดเรา

ขันธ์นี้เหมือนกัน ดูผิวเผินมันสวยงาม มันดีงาม มันน่ารัก มันน่าหวงแหน เราเข้าไปหยิบไปฉวยไว้ ถึงวันหนึ่งมันก็กัดเรา ร่างกายนี้เราอุตส่าห์ดูแลมันอย่างดีที่สุดเลย ถึงวันหนึ่งมันก็ทำร้ายเราด้วยความแก่ ด้วยความเจ็บ ด้วยความตาย อารมณ์ทางใจ เราดิ้นรนแสวงหาความสุข ต้องได้สิ่งนี้ ต้องพ้นจากสิ่งนี้ แล้วจะมีความสุข เช่น ต้องอยู่กับคนนี้ ต้องแต่งงานกับคนนี้ แล้วจะมีความสุข แต่งไปนานๆ เบื่อ อยากจะพ้นไป ถ้าพ้นได้แล้วจะมีความสุข ก็จะคิดอย่างนี้ เดี๋ยวก็อยากได้ เดี๋ยวก็อยากรักษา เดี๋ยวก็อยากให้มันหมดไป ตรงที่ใจมันเกิดความอยาก มันจะดิ้นรนขึ้นมาแล้ว เสียอิสรภาพทางใจ มันจะดิ้นๆๆ ไป ความทุกข์มันก็จะเข้าถึงจิตใจของเรา

ถ้าเราภาวนาให้ดี ความทุกข์มันอยู่ที่ขันธ์หรอก ความทุกข์มันไม่อยู่ที่จิตที่เหนือขันธ์ จิตยังมี 2 ส่วน จิตที่เป็นขันธ์ กับจิตที่เหนือขันธ์ ในตำราเขาพูดถึงอุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น อันนี้อยู่ในกองทุกข์ คือขันธ์ที่เรามี กายนี้ใจนี้ที่เรามีนั่นล่ะ เรียกเป็นอุปาทานขันธ์ แต่เราภาวนาไป เราจะเจอขันธ์ซึ่งมันอยู่เหนืออุปาทานคือวิญญาณ จิตที่บริสุทธิ์กับธรรมะ ที่เกิดร่วมกับจิตที่บริสุทธิ์ อันนั้นไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ไม่จัดอยู่ในกองทุกข์ ฉะนั้นจิตที่บรรลุอริยมรรค อริยผล ไม่ใช่อยู่ในกองทุกข์ เราไม่ได้ทำ ไม่ได้รู้มัน ไม่ได้ละมัน แต่เราจะเข้าถึงมัน จะเข้าถึงจิตซึ่งพ้นจากความทุกข์ เป็นจิตที่สัมผัสนิโรธ

เพราะฉะนั้นท่านบอกว่า “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยคือตัณหาให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง” นิโรธก็คือนิพพาน ถ้าจิตที่ทรงพระนิพพานอยู่ มันก็ไม่ใช่อุปาทานขันธ์จิต พ้นจากอุปาทานขันธ์ มันก็พ้นจากตัวทุกข์ เราไม่ได้มีหน้าที่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา แต่เราปฏิบัติจนวันหนึ่งเราแจ้งมัน แจ่มแจ้ง เข้าถึง เข้าไปสัมผัสมันได้ จิตที่พ้นจากความปรุงแต่ง จิตที่พ้นจากความปรุงแต่ง มันก็สัมผัสพระนิพพาน ธรรมชาติของจิตนั้น ต้องเกิดร่วมกับอารมณ์เสมอ อย่างจิตของเรา ก็เกิดร่วมกับอารมณ์ที่ดีบ้าง ที่ร้ายบ้าง ที่สุขบ้าง ที่ทุกข์บ้าง ฉะนั้นจิตที่สัมผัสพระนิพพาน ก็สัมผัสอะไร สัมผัสพระนิพพาน ไม่ได้สัมผัสโลก

นิพพานมีความสุขอันมหาศาล จิตที่สัมผัสพระนิพพาน มันจะมีความรู้สึก 2 อัน อันหนึ่งมีความสุขอันมหาศาล อีกอันหนึ่งเป็นอุเบกขา ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง คือหลวงปู่สุวัจน์ เอ่ยชื่อได้ท่านมรณภาพไปนานแล้ว ท่านพูดถึงตอนที่จิตท่านหลุดพ้น ท่านบอกว่าจิตท่านมีความสุขมหาศาลอยู่ปีกว่าๆ แล้วถัดจากนั้น ท่านบอก “จิตของเรา” เราไปอย่างนั้น เราโดยโวหารเพื่อสื่อความหมาย ท่านไม่ได้ว่ามีเรามีเขาจริงๆ หรอก บอก “พอเราวางจิตลงไปแล้ว จิตเรามีความสุขอยู่ปีกว่าๆ ถัดจากนั้นมันก็เป็นอุเบกขา เป็นอย่างที่เป็นอย่างนี้” ท่านบอก “มันเป็นอย่างที่มันเป็นนี่ล่ะ”

เพราะฉะนั้นจิตที่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันมีเวทนาได้ 2 ชนิด คือมีความสุขเขาเรียกโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา แล้วมันทรงตัวเด่นดวง ไม่ต้องรักษา สัมผัสพระนิพพาน มันสัมผัสพระนิพพาน เราจะรู้เลยว่า ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนี้ ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงที่สุดของขันธ์ ค่อยๆ ฝึก ก่อนจะถึงจุดนี้ ขั้นแรกก็ต้องเรียนรู้ทุกข์ให้ดี เราไม่ต้องพยายามดิ้นรน ที่จะประจักษ์พระนิพพาน แจ่มแจ้งพระนิพพาน ไม่ต้อง ให้รู้ทุกข์ให้ดี เครื่องมือที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองก็เรียกว่ามรรค ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา เรามีศีล ใจเราจะได้ไม่วอกแวก เรามีสมาธิเพื่อให้ใจเรามีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงอยู่ สามารถเอาไปเจริญปัญญา คือเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจได้

เมื่อเรียนรู้ความจริงของรูปนาม มันเห็นรูปนามอย่างที่มันเป็นแล้ว ไม่ใช่อย่างที่เราคิดจะเป็น คนทั่วไปปฏิบัติธรรมก็อยากมีความสุข อยากไม่ทุกข์ อันนั้นเรียกว่ายังไม่ยอมรับความจริง ถ้ายอมรับความจริงก็คือเห็นความจริง รูปนามคือตัวทุกข์ จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์ ไม่ได้ มันคือตัวทุกข์ ท่านบอกว่า “เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย” เบื่อหน่ายอะไร เบื่อหน่ายในธาตุในขันธ์นั่นล่ะ “เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว” หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามนั่นล่ะ

พอหลุดพ้นจากรูปจากนามได้ ก็เรียกว่ามันพ้นทุกข์ จิตมันลอยตัวอยู่เหนือรูปนามกายใจ คล้ายๆ มันลอยตัวอยู่เหนือรูปนาม คำว่า “ลอยตัว” มันก็ไม่ดี เดี๋ยวเรากำหนดจิตถอดออกจากร่าง แล้วบอกอยู่เหนือรูปนาม อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นส่งจิตออกนอก ใช้ไม่ได้หรอก มันหลุดออกจากรูปนามได้ เพราะมันรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปนามนี้คือตัวทุกข์ มันจะวาง

Comments


bottom of page